เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เรื่อง โครงการสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุน ระหว่าง กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนโยธี)
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน กล่าวว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ตลาดทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ การทำความเข้าใจและการทำวิจัยในตลาดทุนจึงเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับคลื่อนตลาดทุน เพื่อให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและมีความอย่างยั่งยืน ผ่านนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการวิเคราะห์และวิจัยตลาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความรู้และทักษะของนักวิจัยเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นในตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที
“การสนับสนุนและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอนาคต แต่ยังเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเส้นทางอาชีพในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งสถาบันวิจัยต่าง ๆ ให้มีความสามารถยิ่งขึ้น เกิดการต่อยอดนวัตกรรมและเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาและใช้กำลังคนคุณภาพ (National Brain Power Ecosystem) สามารถพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ในฐานะนักวิจัยมืออาชีพ สามารถยกระดับการเป็นผู้นำในทางวิชาการระดับนานาชาติ และสามารถยกระดับผลงานวิจัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล นำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงต่อไป
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการทำงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นของการพัฒนาตลาดทุน เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ การสร้างเครือข่ายนักวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน ช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและนำไปสู่การทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่ซับช้อน เกิดการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมการสนับสนุนทุนวิจัย ช่วยให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจและสังคม เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการดำเนินการระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยด้านตลาดทุนของประเทศไทยในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และตอบโจทย์การพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างแท้จริง โดยจะให้การสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกันในรูปแบบ Matching Fund แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนซึ่งเป็นบุคลากรของสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดของกระทรวง อว. ที่ได้รับการคัดเลือกในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านตลาดทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป